รีไซเคิลน้ำใช้กับต้นไม้ในบ้าน
ข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า คนในกรุงเทพและปริมณฑลใช้น้ำเฉลี่ยวันละ 200 ลิตรเพื่อการอุปโภค บริโภคในครัวเรือน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) คาดการณ์ว่าความต้องการน้ำในครัวเรือนจะอยู่ที่ 723,000 ล้านลิตรในปี 2568 จากปัจจัยความต้องการน้ำในอนาคต ประกอบด้วย จำนวนประชากร ขนาดครัวเรือน รายได้ครัวเรือน ราคาค่าน้ำ และปริมาณน้ำฝน
ความต้องการน้ำแปลผกพันกับความอุดมสมบูรณ์ ทั้งคนและต้นไม้ต่างต้องการน้ำในการดำรงชีวิต เพื่อที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด หลาย ๆ คนจึงเกิดคำถามว่าเราสามารถนำน้ำที่เราใช้แล้ว มารีไซเคิลเพื่อรดต้นไม้ได้หรือไม่ มีกระทู้มากมายแชร์ถึงประโยชน์ของการนำน้ำซักผ้ามารดต้นไม้ ทำให้ต้นเหล่านั้นเติบโตได้ไว ป้องกันแมลง
ในบทความนี้ เราได้รวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะนำน้ำที่เราอุปโภค บริโภคเหลือ มาใช้ซ้ำกับการรดต้นไม้ ทำให้เราประหยัดน้ำ ลดการที่ระบบส่วนกลาง (ของอาคาร ของจังหวัด) ต้องนำน้ำไปบำบัด และยังเป็นการช่วยธรรมชาติอีกทางหนึ่ง
Grey Water น้ำใช้แล้วจากครัวเรือน
น้ำสุดท้ายที่เหลือจากการซักผ้า อาบน้ำ หรือ ล้างจานนำมารดต้นไม้ได้ ทั้งนี้ไม่รวมน้ำจากโถชำระและท่อระบายจากการประกอบอาหาร ที่อาจประกอบด้วยเชื้อโรค แบคทีเรียที่ยากต่อการกำจัด
ข้อดี
- ประหยัดค่าน้ำ ประหยัดการใช้น้ำในครัวเรือน
- ลดมลภาวะจากการจำกัดและบำบัดน้ำ
- ผลิตภัณฑ์ซักล้างที่เจือจางมีส่วนผสมของฟอสฟอรัสและไนโตรเจน ซึ่งเป็นช่วยในการสังเคราะห์แสงและสร้างพลังงานให้กับพืช
ข้อควรระวัง
- ไม่ควรใช้ Grey water กับพืช ผักที่รับประทานสด เพื่อหลีกเลี่ยงสารเจือปนที่อาจเป็นพาหะของโรค
- บริหารสัดส่วนระหว่างน้ำรีไซเคิล กับ น้ำธรรมชาติอย่างสมดุล หากมีการรดด้วยน้ำเหลือใช้มากเกินไป ดินอาจเกิดปัญหาอุดตัน เนื่องจากปริมาณแร่ธาตุและเกลือที่ผสมมากับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
- เลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เป็นมิตรและย่อยสลายได้ในธรรมชาติเพื่อหลีกเลี่ยงการปล่อยมลพิษสู่ธรรมชาติ
- ใช้ Grey water กับพืชภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสะสมของแบคทีเรียและลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ส่วนที่ดีที่สุดของพืชที่ควรรด คือ บริเวณที่ใกล้รากที่สุด
Coffee น้ำกาแฟ (หรือกากกาแฟ)
กากกาแฟ และ น้ำกาแฟที่คุณทานไม่หมดก็สามารถใช้เป็นปุ๋ยได้
ข้อดี
- ตัวกาแฟประกอบด้วยไนโตรเจนประมาณ 2% ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีประโยชน์กับการเจริญเติบโตของพืช
- ลด food waste
ข้อควรระวัง
- เจือจางกาแฟทุกครั้งก่อนนำมารดต้นไม้ สัดส่วนกาแฟควรเป็น 1 ส่วน ต่อน้ำ 4 ส่วน
- กาแฟส่วนมากมักมีสภาพเป็นกรด โดยมี pH ประมาณ 5.2 ถึง 6.9 ขึ้นกับชนิดและกรรมวิธีในการผลิต ดังนั้นจึงควรใช้กาแฟกับพืชที่ชอบความเป็นกรด เช่น กุหลาบ ไฮแดรนเยีย ว่านหางจระเข้
- กาแฟที่จะนำมารดต้นไม้ ควรเป็นกาแฟผสมน้ำเท่านั้น ไม่ควรนำกาแฟที่ผสมนม น้ำตาล ครีมเทียมมารดต้นไม้
Milk นม
นมที่ทานไม่หมด รวมถึงนมที่เกินวันหมดอายุที่ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์แต่ยังไม่เน่าเสีย สามารถนำมารดต้นไม้ได้
ข้อดี
- ในนม มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์กับพืช และ สารฆ่าเชื้อซึ่งช่วยในการฆ่าแมลง
- ในนม มีแคลเซียมสูง ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างผนังเซลให้กับพืช ทำให้พืชเติบโตและมีอายุยืนยาว
- ในนม มีโปรตีน น้ำตาล และ วิตามินบี ซึ่งเป็นส่วนช่วยหลักในออกดอก ออกผลของพืช
- ลด Food Waste
ข้อควรระวัง
- ไม่ควรใช้นมผง หรือ น้ำผสมนมผงรดต้นไม้ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดโรคพืช เช่น โรคใบจุดพืช
- เจือจางนมทุกครั้งก่อนนำมารดต้นไม้ สัดส่วนนม ควรเป็น 1 ส่วน ต่อน้ำ 1 ส่วน เพราะนมมีส่วนประกอบของไขมัน ซึ่งสามารถไปอุดกั้นการดูดซึมน้ำของพืช
- การรดต้นไม้ด้วยนมมากเกินไป อาจเกิดกลิ่นไม่พึ่งประสงค์ ซึ่งเกิดจากการเน่าเสียของไขมันในนม
Water from Washing Rice นำ้ซาวข้าว
น้ำที่เหลือจากการล้างข้าว หรือ หุงข้าวช่วยบำรุงพืชได้
ข้อดี
- น้ำข้าวช่วยเสริมสร้างคาร์โบไฮเดรต หรือ น้ำตาลโมเลกุลคู่ให้กับพืช แบคทีเรียในดินสามารถเปลี่ยนน้ำตาลเหล่านี้ให้เป็นสารอาหารที่พืชจะกักเก็บไว้ได้
- น้ำข้าว มีแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และ โพแทสเซียม ที่ล้วนมีประโยชน์กับการเจริญเติบโตของพืช
ข้อควรระวัง
- น้ำซาวน้ำที่รดลงบนพืช ควรมีอุณหภูมิห้อง ระวังการใช้น้ำร้อน เพราะ อุณหภูมิร้อนอาจทำลายแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในดิน
จะเห็นได้ว่า นอกจากน้ำธรรมชาติ ยังมีน้ำรีไซเคิลทางเลือกมากมาย ที่อาจมีประโยชน์กับพืช และ กระเป๋าสตางค์ของคุณ หากแต่จะต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนเลือกใช้
เราเริ่มได้จากสิ่งที่ง่ายและก็เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเราก่อน อาจเริ่มจากกากกาแฟดริป หลังจากที่เราชงดื่ม หรือไม่ก็น้ำซาวข้าว เราใส่ถังเก็บไว้เพื่อนำไปรดต้นไม้ ประหยัดทั้งเงิน งามทั้งต้นไม้ 🙂
ที่มาของข้อมูล
YourHome.Gov
South African Garden & Home
Nadingardening.com
Gardeningknowhow.com
Flourishingplants.com
ติดตาม GreenTips ได้ทุกช่องทาง
🌐 : greentips.net
Facebook: Bio100Percent
Line: @BIO100
IG: instagram.com/bio100plus