การปลูกพืชแบบออร์แกนิค (organic farming) เริ่มเป็นที่นิยมอย่างแพรหลายมากขึ้น เพราะผู้บริโภคเริ่มเลือกที่จะมองหาและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายออร์แกนิค
การปลูกพืชแบบออร์แกนิค โดยนิยามแล้ว คือการที่ชาวสวนชาวไร่ไม่ใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีสังเคราะห์ (synthetic chemical) แต่เลือกใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ (natural fertilizers) แม้กระทั่ง การจัดการกับศัตรูพืชก็จะเลือกใช้วิธีธรรมชาติ เช่น ปล่อยศัตรูทางธรรมชาติ (natural predators) หรือเลือกใช้วิธี (manual) หาวัสดุปกคลุมเพื่อป้องกันการเข้าถึงของศัตรูพืช หรือใช้สารเคมีที่เกิดจากธรรมชาติ(natural occuring chemicals) และปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม
รวมถึงการปลูกพืชหลายชนิดหมุนเวียน (polyculture) แทนเกษตรเชิงเดี่ยว (monoculture) ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผืนดินมีการฟื้นตัว ทำลายวงจรโรคพืช (diseases) และแมลงศัตรูพืช (pests) และช่วยส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ (biodivesity) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและโลก
ส่วนการเลี้ยงสัตว์แบบออร์แกนิค (organic livestock farmings) ก็คือการเลี้ยงสัตว์โดยไม่มีการใช้ฮอร์โมนหรือ สารเร่งทั้งเนื้อหรือปริมาณนม เหมือนอย่างที่ฟาร์มส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มอินทิเกรดฟาร์มขนาดใหญ่ ที่จะให้ทั้งยาปฏิชีวนะและฮอร์โมนเป็นสูตรมาตรฐาน โดยไม่จำเป็นที่ต้องมีข้อบ่งใช้ (สัตว์ไม่มีปัญหาสุขภาพ)
การเลี้ยงแบบออร์แกนิค ยังรวมถึงการคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ ให้สัตว์มีพื้นที่เพียงพอในการเคลื่อนที่ และมีโอกาสออกไปเจอธรรมชาติภายนอกโรงเลี้ยง หรือถูกอากาศถูกแสงแดดบ้าง
การทำฟาร์มออร์แกนิค ยังลดปัญหาการปนเปื้อนหรือมลพิษจากสารเคมี ไหลลงไปสู่แม่น้ำ หรือแหล่งน้ำใต้ดิน ที่ในที่สุด ก็จะย้อนกลับเข้ามาสู่วงจรห่วงโซ่อาหาร (food chain) ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพของพวกเราทุกคน
แต่จากสถิติส่าสุด พื้นที่ในโลกที่มีการทำฟาร์มแบบออร์แกนิคยังมีเพียงแค่ 1% จากการทำฟาร์มทั้งหมด ถ้าคิดเฉพาะในยุโรปที่บริโภคสินค้าออร์แกนิคมากที่สุด ยังมีพื้นที่เพียง 5.7% ที่ทำเกษตรกรรมแบบออร์แกนิค
ข้อมูลสนับสนุนจาก http://www.organic-world.net