สารอุ้มน้ำหากจะใช้ … ปลูกพืชช่วงแล้ง … ช่วยให้ (พืช) รอดตายได้มากขึ้น
สารอุ้มน้ำโพลีเมอร์ เป็นสารปรับปรุงดินชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา เดิมสารนี้ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในวงการแพทย์และอุตสาหกรรมเช่น ใช้เป็นตัวดูดซับในผ้าอ้อมเด็กและผ้าอนามัยสตรี เป็นต้น การนำสารนี้มาใช้ในวงการเกษตรก็เพื่อวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกันคือ เพื่อเพิ่มการดูดซับและเก็บกักน้ำของดิน มีตัวอย่างการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารอุ้มน้ำโพลีเมอร์ที่นำมาใช้ในการเกษตรกับพืชหลายชนิด เช่น
ได้มีการนำสารอุ้มน้ำชนิดหนึ่งผสมกับดินเหนียวปนทรายชุดกำแพงแสนและดินชุดกำแพงแสนที่ผสมปุ๋ยขี้เป็ด ทรายและแกลบ อัตรา 0, 1, 3 และ 5 กรัมต่อปริมาตรดิน 1 ลิตรเพื่อใช้ในการเพาะกล้าผัก พบว่าการใช้สารอุ้มน้ำอัตราส่วน 5 กรัมต่อดิน 1 ลิตร ทำให้ดินสามารถดูดซับน้ำได้เพิ่มขึ้น 27และ 38℅ โดยน้ำหนักสำหรับดินชุดกำแพงแสนและดินผสมชุดกำแพงแสนตามลำดับ
การทดลองใช้สารอุ้มน้ำโพลีเมอร์เพิ่มความทนแล้งของกล้าไม้ยืนต้น 4 ชนิดคือ ยูคาลิปตัส สะเดา ยางพารา และมะม่วงหิมพานต์ โดยใช้สารอุ้มน้ำโพลีเมอร์ผสมกับดินทรายชุดสตึกในอัตรา 0, 0.25, 0.50 และ 1.00℅ โดยน้ำหนัก กระถางที่ผสมสารอุ้มน้ำโพลิเมอร์ กล้าพืชต่างๆ สามารถทนแล้งได้นานขึ้นตามอัตราของสารอุ้มน้ำโพลีเมอร์ที่สูงขึ้นและพบว่ากล้ายางพาราทนแล้งได้ดีที่สุดคือเมื่อผสมสารอุ้มน้ำโพลีเมอร์ 1.00℅จะทนอยู่ได้นานถึง 93 วัน หลังงดการให้น้ำ และได้ทดลองเปรียบเทียบวิธีใส่คือใส่แบบคลุกเคล้ากับดิน และใส่ในบริเวณรากพืชกับต้นยางพารา พบว่าการใส่สารอุ้มน้ำโพลีเมอร์บริเวณรากมีแนวโน้มให้ผลดีกว่าการใส่แบบผสมคลุกเคล้ากับดิน
การทดลองใช้สารอุ้มน้ำโพลีเมอร์ ผสมในวัสดุปลูกไม้กระถางในอัตรา 1.7, 3.4, 5.4 และ 6.8 กิโลกรัมต่อวัสดุปลูก 1 ลูกบาศก์เมตร ในวัสดุปลูกที่ผสมสารอุ้มน้ำโพลีเมอร์มากขึ้น ช่วยเพิ่มความสามารถในการดูดซับน้ำให้มากขึ้น นอกจากนี้สารโพลีเมอร์ยังช่วยเพิ่มความสามารถของวัสดุปลูกในการดูดยึดธาตุอาหารพืชอีกด้วย
ปัจจุบันสารอุ้มน้ำในท้องตลาดมีขายอยู่หลายยี่ห้อ หากจะใช้ก็พิจารณาตามความจำเป็นโดยเฉพาะการปลูกพืชช่วงแล้งอาจจะช่วยให้รอดตายได้มากขึ้น