แฟชั่นเพิ่มอุณหภูมิโลก
งดรับถุงหรือเลิกแต่งตัว (อะไรช่วยโลกได้มากกว่า)
บรรจุภัณฑ์พลาสติก
ปัจจุบัน การตะหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมคงเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วกัน และพวกเราส่วนมากก็คงมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่มากก็น้อย เลือกบริโภคแบรนด์สินค้าและสนับสนุนกิจการของแบรนด์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแน่นอนการ เลือกบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล ก็ดูเหมือนเป็นตัวเลือกต้นๆ ที่พวกเราถือปฎิบัติกัน ในเชิงการตลาด สินค้าแบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่ต่างรู้แนว หันมารับลูก อย่างร้านสะดวกซื้อเชนยักษ์ 7-11 ก็งดแจกถุงพลาสติก ให้กับลูกค้าที่แวะเพื่อซื้อสินค้า”สะดวกซื้อ” สะดวกรับประทานกัน แต่ตอนนี้(อาจ)ไม่ได้สะดวกถือ ทำเอาลูกค้าต้องลำบากขึ้น หอบของกินหลายไซส์พะรุงพะรัง (คือมันไม่เหมือนไปช๊อปปิ้ง ที่เราไปห้างๆ และก็เตรียมตัวนำถุงผ้าไปซือของจริงจัง
ร้านกาแฟรุ่นใหญ่ Starbucks / true coffee ก็สนับสนุนให้ลูกค้านำแก้วกาแฟมาจากบ้าน มีส่งเสริมการขาย สร้างแรงจูงใจด้วยการลดราคา เทรนด์นี้ทั้งร้านเล็กใหญ่ ก็ตามกันมา … Amazon Coffee ของ ปตท ก็เอากับเขา แถมไปต่ออีกด้วยการเปลี่ยนมาใช้ eco-cup ย่อยสลายได้ หรือ พี่สตาร์บัคส์ไม่อาจน้อยหน้าด้วยการเลิกใช้หลอดพลาสติก แต่หันมาให้หลอดกระดาษแทน ว่ากันตามจริง ก็ไม่ค่อยเหมาะกับการดูดเครื่องดื่มเย็นสักเท่าไหร่ เพราะกระดาษจะยุ่ยและก็ทำให้เครื่องดื่มมีกลิ่นรสแปลกไป
จากสายรีเทลมาโรงพยาบาลทั้งรัฐทั้งเอกชน ต่างงดถุงพลาสติกหรือไม่ก็แจกถุงผ้าถุงกระดาษ เอาตามจริง พอไปหาหมอบ่อยเข้า ก็รู้สึกว่าไม่ช่วยเท่าไหร่ เราเริ่มมีถุง(ใช้ซ้ำได้)มากขึ้น แต่ก็ไม่รู้จะไปทำอะไร คือถุงพลาสติกกร็อบแกร็บยังเอาใส่ขยะในครัวได้ ไม่ก็ไว้ซ้อนถังผงในบ้าน แต่ถุงกระดาษนี่ทำได้แต่ซ้อนไว้ชั่งกิโลขาย แถมมีความรู้สึกว่า ถุงกระดาษใบหนึ่งผลิตขึ้นมาก็น่าจะมี carbon footprint ไม่น้อย
สินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า – ธุรกิจสิ่งทอ)
เสื้อผ้าแฟชั่นก็ตามมา ล่าสุด Uniqlo เตรียมงดให้ถุงพลาสติกสีขาวใบเขื่อง และยังทำโครงการ เช่นตั้งกล่องรับบริจาคเสื้อเก่า นำไปคัดแยกเป็นหมวดหมู่ที่ตรงความต้องการของผู้รับ เพื่อให้นำไปใช้ได้จริง หรือการพัฒนากระบวนการผลิตให้ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม เช่นการฟอกยีนส์ด้วยวิธีโอโซน หรือการแต่งผิวด้วยเลเซอร์
ความตั้งใจที่ดี กับความพยายามริเริ่มเป็นเรื่องที่ดี ต่างคนต่างทำเท่าที่ทำได้ สิ่งแวดล้อมของเราก็น่าจะค่อยๆดีขึ้น แต่ปัญหาของเรามันก็ใหญ่เสียเหลือเกิน คือมันหนักหนาสะสม แบบที่ว่าเราต้องลดการปล่อยก๊าซ CO2 ให้ได้ 2.6หมื่นตันทุกๆ 2 ปี ต่อเนื่องไปอีกหนึ่ง(1) ทศวรรษ ถึงจะส่งผลอย่างมีนัยยะ ให้ภาวะโลกร้อนดีขึ้น
ไม่น่าเชื่อว่า สินค้าแฟชั่นเป็นปฎิปักษ์ต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก มีการประเมินกันว่า อุตสาหกรรมนี้เพียงตัวเดียว ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นกว่า 10% ของ CO2 ทั้งหมดที่มนุษย์เราทำให้เกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น น้ำถูกใช้ในกระบวนการผลิตเป็นปริมาณมหาศาล รู้หรือไม่ว่าเราต้องใช้น้ำถึง 2700 ลิตรเพื่อผลิดเสื้อคอตต้อน 1 ตัว (ปกติมนุษย์เราดื่มน้ำเฉลี่ยวันละ 8 แก้ว แปลว่าการผลิตเสื้อตัวเดียว ต้องใช้น้ำมากขนาดที่คนหนึ่งคนไป 3.5 ปีเลย) ว่ากันที่จริง มีการประเมินว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอใช้น้ำมากเป็นที่ 2 เมื่อเทียบกับการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคทั้งหมดของมนุษย์ชาติ
ยังไม่นับถึงสารเคมีมากชนิดที่ใช้ในการผลิต กระบวนการส่วนใหญ่ก็ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ต้นเหตุของการปล่อยสาร CO2 แถมด้วยNO NO2 SO2และออกไซด์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นมาในขั้นตอนอื่นๆอีก ไม่ว่าจะเป็นการทอฟอกย้อม สุดท้ายปลายทาง โรงงานก็ปล่อยทิ้งน้ำเสียจำนวนมาก ส่วนใหญ่ก็มีโลหะหนักเจือปนตกต้าง อาทิปรอท ตะกั่ว สารหนู แต่ที่หนักหนาสาหัสกัน เพราะสินค้าแฟชั่นเหล่านี้ ส่วนใหญ่ผู้ผลิตในประเทศที่มีค่าแรงตำ่อย่าง จีน อินเดีย บังคลาเทศ ที่การควบคุมโดยหน่วยงานรัฐไม่เข้มงวด ทำให้น้ำเสียถูกปล่อยทิ้งไปโดยไม่ผ่านการบำบัดน้ำเสียที่ถูกหลักวิชาการ และเหมาะสม เพื่อช่วยลดค่าของเสียให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ก่อนปล่อยออกแม่น้ำ คูคลองสาธารณะ ทำให้ในที่สุดน้ำเสียจำนวนมากก็ถูกทิ้งออกสู่ทะเลและมหาสมุทร
จนมีคำกล่าวว่าอุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างมลภาวะมากที่สุดของโลก
เทรนด์ล่าสุดของโลกแฟชั่น อย่างการที่เราหันมาใส่เสื้อผ้า fast & casual ใช้เสื้อผ้าเรียบง่าย ราคาไม่แพง ดันให้การบริโภคเสื้อผ้าใหม่ กระโดดขึ้นเป็นเท่าตัว แทบจะทุกปี ตั้งแต่ปี 2000 อุปสงค์ที่ถูกเร้าจากราคาถูก สไตล์เรียบง่าย (ร่วมส่งเสริมกันถ้วนหน้าโดยวงการแฟชั่นที่ต่างออกคอลเล็คชั่นเนื้อผ้าหรือสไตล์ใหม่เพิ่มขึ้น จากเดิมปีละ 2 ชุด เป็น 5 ชุดโดยเฉลี่ย) ทำให้เราซื้อเสื้อผ้าเพิ่มกันถึง 60% ต่อคนต่อปี ประเมินกันว่าพวกเราชาวโลก 8พันล้าน (8,000,000,000) คน ใช้เสื้อผ้าใหม่กันมากถึงปีละ 8หมื่นล้าน (80,000,000,000) ตัวกันทีเดียว
และเสื้อผ้าแนวใหม่ราคาย่อมเยานี้ ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบจากเส้นใยสังเคราะห์จากกระบวนการปลายน้ำของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ไม่ว่าจะเป็นไนล่อน โพลีเยสเตอร์ หรือเส้นใยชื่ออ่านยากอีกหลายตัว ซึ่งที่เราอาจนึกไม่ถึง ก็คือการซักผ้า ยิ่งเรามีเสื้อผ้าใช้เยอะ (ใส่หลายตัว หลายชิ้น หรือเปลี่ยนบ่อยๆ ตามแต่กิจกรรมของแต่ละช่วงวัน) พอเรานำไปซัก น้ำซักผ้าจะชะล้างคราบสกปรกและปล่อยไมโครพลาสติก (microfibers) ออกมาจำนวนหนึ่ง อย่างเสื้อใยสังเคราะห์หนึ่งชุดจะปล่อย microfiber 1.7 gram ออกมากับน้ำที่ซักล้าง และประมาณ 40%ของพลาสติกพวกนี้ สุดท้ายก็ไหลลงคลองสาธารณะและปลายทางที่มหาสมุทร ถูกกินโดยสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋ว ถูกกินโดยปลาเล็ก และก็ปลาใหญ่ เป็นทอดๆกันไป จนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ของพวกเราชาวมนุษย์ในที่สุด มีการคำนวณว่าน้ำซักผ้าทั้งหมดในโลก เป็นตัวการปล่อยไมโครพลาสติกออกสู่มหาสมุทรรวมกันต่อปี ในปริมาณมากถึง 500,000ตัน หรือเทียบเท่ากับ ขวดพลาสติก 5หมื่นล้าน (50,000,000,000) ใบทีเดียว แน่นอน การมีเสื้อผ้าให้เลือกใส่มากขึ้น ทำให้เราเปลี่ยนคอลเล็คชั่นส่วนตัวบ่อยขึ้น เสื้อผ้่ที่เราไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่หมด เราก็ต้องนำมันทิ้งไป ซึ่งในแต่ละวัน จะมีเสื้อผ้าถูกนำไปทิ้งในปริมาณเท่ากับ1 คันรถดัมพ์ต่อวินาทีกันเลย
หลายปีมานี้ ปัญหานี้ มีการหยิบยกมา และวงการเสื้อผ้า(อุตสาหกรรมแฟชั่น)ก็ตื่นตัว พยายามปรับตัว และริเริ่มกันตั้งแต่ปี 2019
- มีการประชุมร่วมกัน และรวมกลุ่มกันทำข้อตกลง ที่จะลดการปล่อยก๊าซ ปรับปรุงกระบวนการตั้งแต่วัตถุดิบ ระบบการผลิตไปจนถึงโลจิสติกส์ เป้าหมายคือลดการปล่อยก็าซให้ได้ 30% ภายในปี 2030 มีการ(กำหนดเป้าหมายระหว่างอุตสาหกรรม)
- ร่วมกันใช้พลังงานสะอาด ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ที่สร้างมลภาวะมากกว่า
- สร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อหาวัตถุดิบที่ดีต่อโลกมากขึ้น ลดการใช้เส้นใยทอขึ้นใหม่ (virgin material) หรือวัตถุดิบสังเคราะห์จากปิโตรเคมี รวมถึงหาทางนำวัตถุรีไซเคิลมาใช้เป็นตัวเลือกให้มากขึ้น
- ร่วมมือกับผู้ให้บริการขนส่ง ชิปปิ้ง ซึ่งธุรกิจสิ่งทอเป็นผู้ใช้บริการรายใหญ่อันดับต้นๆ ผลักดันให้วงการสายเรือ ปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อลดการปล่อยก๊าซในการเดินเรือทะเล
น่าเสียดาย ผ่านไป 2 ปี ตั้งแต่กำหนดเป้าหมายร่วมกัน องค์กร Stand.Earth เพิ่งประกาศ Fossil-Free Fashion Scorecard หลังประเมิน 47 แบรนด์เสื้อผ้าระดับโลก พบว่าความพยายามทำตามข้อตกลง ค่อนข้างล้มเหลว …. กว่าสามในสี่หรือ 75% ของผู้ร่วมประชุมได้รับคะแนน เกรด F คือสอบตกไม่เป็นท่า … ลองดูตัวอย่างแบรนด์ใหญ่ที่เราคุ้นเคยกัน
NIKE ที่ได้เกรด C+) เขาทำงานกับโรงงานให้เปลี่ยนแหล่งจ่ายพลังงานให้ความร้อน พยายามลดการใช้ เชื้อเพลิงถ่านหินมากใช้พลังสะอาดให้มากขึ้น หรืออย่างการมีเป้าหมายชัดเจน พร้อมแผนปฎิบัติการให้ทั้งฝ่ายผลิตและขนส่ง โดยลงมือทำงานกับโรงงานหลายแห่ง จับเชื่อมต่อกับ ผู้จำหน่าย พลังงานสะอาด ทั้ง US / EU
LEVI’s มีการตั้งเป้าหมาย ทำแผนชัดเจน ลงไปถึงระดับโรงงานผลิตเช่นกัน พร้อมมีเงื่อนไขการให้แรงจูงใจ และแผนการช่วยเหลือด้านการเงิน แต่ยังไม่มีความชัดเจนในแผนปรับปรุงเรื่องขนส่ง ทางลีวายส์ก็เลยได้เพียง เกรด C
ยังนับว่าสอบผ่าน ไม่ถึงกับต้องซ้ำชั้น แต่ก็ยังไม่อาจนับว่าทำได้ดี เพราะได้แค่ C/C+
เราในฐานะผู้บริโภค เริ่มที่ตัวเรา ขอเพียงเริ่มต้น ไม่ต้องรอใคร
- ลดการซื้อเสื้อผ้าใหม่ ใช้ของเดิมที่อยู่ล้นตู้ให้นานขึ้น
- ซื้อเสื้อผ้ามีคุณภาพ เน้นความคงทน ใช้งานได้นาน
- สนับสนุนแบรนด์ที่มีนโยบายใส่ใจสิ่งแวดล้อม
- ใช้เสื้อผ้าซ้ำ อย่างเสื้อคลุมภายนอก อย่างสูท แจ็กแก็ต ก่อนนำไปซัก
- คิดเยอะๆก่อนทิ้งเสื้อผ้าเก่า เช่น ซ่อม ดัดแปลง บริจาค ขายต่อให้ร้านมือสอง
- ซื้อจากร้านมือสอง แลกกัน หรือ เช่า **
หมายเหตุ:
** ธุรกิจหลายอย่างจากความพยายามจากกลุ่มคนที่เห็นปัญหาและหาทางออก ที่เป็นทางเลือกช่วยจัดการกับเสื้อผ้าใช้แล้ว แต่ยังมีคุณค่า หลายกิจการมีแผนธุรกิจชัดเจน และมีโอกาสทางการตลาดและมี เช่น RentTheRunWay ที่นำเสื้อผ้าใส่ออกงานมาให้เช่าใช้ หรือ VINTED ที่อังกฤษ และ TokyoCheapo
ที่มาของข้อมูล
Internation Labour Organization
Greenofchange.com
IBERDROLA
SustainYourStyle.org
Stand.Earth
FastCompany
EcoTextile.com
GreenQueen
ติดตาม GreenTips ได้ทุกช่องทาง
🌐 : greentips.net
Facebook: Bio100Percent
Line: @BIO100
IG: instagram.com/bio100plus